Spread the love

ความเป็นมาของ “ถนนสายไม้

ชุมชนประชานฤมิตร เป็นชุมชนเก่าแก่ ชาวบ้านดั้งเดิมจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ยกร่องทำสวน  เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงมีการติดต่อค้าขายกับภายนอก และมีผู้คนจากต่างถิ่นอพยพเข้ามาอาศัยทำกินมากมาย รวมทั้งพ่อค้าชาวจีน จากย่านวัดญวนสะพานขาว  ย่านถนนดำรงรัก  ย่านวัดสระเกศ ย่านสะพานดำ ย่านบางลำพู ย่านนางเลิ้ง ก็ได้นำอาชีพเกี่ยวกับการทำเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ งานฝีมือช่างไม้ ช่างแกะสลักไม้ งานประดิษฐกรรมไม้ การแปรรูปไม้ ติดตัวมา  และด้วยเหตุที่ด้านตะวันตก ของชุมชนติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งเป็นเส้นทางล่องแพซุงแพไม้ จากภาคเหนือสู่ภาคกลาง คือ กรุงเทพมหานครที่มีเส้นทางการลำเลียงขนส่งสะดวกและมีโรงเลื่อยตั้งอยู่เรียงราย บริเวณท่า น้ำวัดบางโพเรียงเรื่อยขึ้นไปทางนนทบุรี  ตลอดแนวย่านนี้จึงเป็นแหล่งรวม ของไม้แปรรูปทุกชนิดและทำให้สะดวกในการจัดหาวัตถุดิบ นับตั้งแต่นั้นมาชุมชนย่านนี้จึงเป็นแหล่งรวมร้านค้า  สถานประกอบการ และอุตสาหกรรมขนาดย่อมเกี่ยวกับเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ มีช่างไม้ฝีมือดี  ช่างแกะสลักไม้  งานประดิษฐกรรมไม้ การแปรรูปไม้ เป็นต้น

ดังนั้น “ถนนสายไม้” แห่งนี้มีชื่อเสียงเกี่ยวกับงานไม้เฉพาะในหมู่ช่างไม้และร้านเฟอร์นิเจอร์ ที่มารับของไปขายหน้าร้านเท่านั้น  จนกระทั่ง คุณสมศักดิ์ จันทวัฒนา ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตบางซื่อ ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ ครัวเรือนและผู้ประกอบการแทบทุกส่วนได้รับผลกระทบและรับรู้ได้อย่างชัดเจน ถึงผลกระทบของความตกต่ำนั้น  ซึ่งร้านค้าและสถานประกอบการในซอยประชานฤมิตร ก็ประสบกับภาวะชะงักงันเช่นกัน  ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเขตบางซื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่ และประชาชนได้รับความสะดวกสบาย  ผู้อำนวยการเขตจึงได้ออกสำรวจพื้นที่ถนน ตรอกและซอย โรงเรียน สถานที่สำคัญต่างๆ ตลอดจนวัดวาอาราม พร้อมกับถือโอกาสเยียมเยี่ยมประชาชนตามชุมชนต่างๆ ไปด้วย  ทั้งนี้เพื่อศึกษาสภาพพื้นที่ และรับทราบปัญหา ข้อเสนอแนะจากประชาชนนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนา จากการสำรวจในครั้งนั้นผู้อำนวยการเขตได้เยี่ยมชุมชนต่างๆ ซึ่งมีอยู่ถึง 50 ชุมชน มีอยู่ชุมชนหนึ่งที่ท่านได้พบกับความแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งเป็นชุมชนที่ไม่เหมือนใคร คือ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวคือ ชุมชนประชานฤมิตร ซึ่งตั้งอยู่ในซอยประชานฤมิตรซึ่งเป็นซอยเชื่อมระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย1 กับ ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร     โดยตลอดสองฟากซอยเป็นสถานที่ตั้งของสถานประกอบการเกี่ยวกับการประดิษฐ์  เครื่องเรือนไม้ทุกประเภท  ไม่ว่าจะเป็นตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ประตู หน้าต่าง ประดิษฐกรรมไม้ การแกะสลัก การแปรรูปไม้  ตลอดจนอุปกรณ์ตกแต่งบ้านชนิดครบวงจร เรียกว่า ถ้าใครจะก่อสร้างบ้านหรือตกแต่งบ้านมาที่ซอยได้ครบทุกอย่าง และที่สำคัญคือ ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพของสินค้า  ท่านผู้อำนวยการเขตได้ลองนับดูมี สถานประกอบกิจการในซอยนี้ถึงกว่า 200 ราย  ความโดดเด่นดังกล่าวทำให้ท่านผู้อำนวยการเขต มีความสนใจที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งของชุมชนให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเขตบางซื่อ หรือ OTOP ของเขตบางซื่อ

ดังนั้น ท่านผู้อำนวยการเขตซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องหาทางช่วยเหลือ  ด้วยท่านคิดว่าน่าจะเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้แหล่ง เครื่องเรือนไม้แห่งนี้ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่ประชาชนทั่วไปให้ กว้างขวางมากขึ้น  เพราะแต่เดิมคนที่รู้จักจะอยู่ในวงแคบเฉพาะพวกช่างไม้และร้านเฟอร์นิเจอร์ ที่มารับของไปขายหน้าร้านเท่านั้น  ประกอบกับในขณะนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.พิจิตต รัตตกุล ได้มีนโยบายให้ทุกเขตจัดงานถนนคนเดินขึ้นอย่างน้อยเขตละหนึ่งถนน

โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกถนนที่จะจัด คือ

  1. จะต้องเป็นถนนที่เมื่อจัดเป็นถนนคนเดินแล้วไม่กระทบต่อการจราจรมากนัก
  2. ถนนนั้นจะต้องมีของดีประจำถิ่น
  3. การจัดจะต้องดำเนินการโดยชุมชนเอง
  4. จะต้องไม่ใช่งบประมาณของทางราชการ

ผู้อำนวยการเขตซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและผู้ร่วมก่อตั้งได้ปรึกษาหารือกับผู้ร่วมก่อตั้ง และแกนนำชุมชน  ดำเนินการการประชุมและวางแผนการดำเนินงานที่ ศาลเจ้าแม่ทับทิมกลางซอยประชานฤมิตร โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี  และได้จัดทำซุ้มประตูเพื่อจะได้มีสัญลักษณ์เป็นที่สังเกตง่ายว่าที่แห่งนี้ คือแหล่งงานไม้และให้มีเอกลักษณ์บ่งบอกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์   สุดสาคร ชายเสม  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตรกรรมประติประมากรรมไทย  ปัจจุบันใครผ่านไปมาทั้งด้านที่เข้าทางถนนประชาราษฎร์ สาย 1 และด้านที่ออกทางถนนกรุงเทพ – นนทบุรี จะเห็นซุ้มประตูตั้งเด่นเป็นสง่าสวยงาม  และผู้อำนวยการเขตได้ไปชักชวนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาร่วมจัดงาน   คุณวิวัฒน์ชัย บุญภักดี และ คุณสมมาศ ศิริวงศ์ ซึ่งทั้ง 2 ท่านให้ความร่วมมืออย่างดีและยังได้ร่วมกันตั้งชื่องานว่า“ถนนสายไม้” อันเป็นชื่อที่ใช้ในการจัดงาน โดยในปี 2542 เป็นปีแรกที่เริ่มมีการจัดงาน  “ถนนสายไม้” ขึ้นมาซึ่งมีประชาชนพี่น้องให้ความสนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก  จากเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอันแสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีคุณค่า และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและฝีมือความชำนาญในการผลิตเครื่องเรือน งานไม้งานแกะสลัก จึงทำให้ “ถนนสายไม้” เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายว่าเป็น“แหล่งรวมเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่ทำจากไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ” และมีประชาชนนิยมมาหาซื้อเครื่องเรือน ไม้แกะสลักและ ไม้สำเร็จรูปที่ชุมชนแห่งนี้ จากการจัดงานครั้งนั้นทำให้อาชีพของชุมชนแห่งนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น  ด้วยเหตุนี้ “ถนนสายไม้” จึงกลายเป็นงานประเพณีประจำปีของกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเขตบางซื่อ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน  โดยกำหนดการจัดงานในวันเสาร์ – อาทิตย์ สุดท้ายของเดือนมกราคม ของทุกปี

 

 

 

 

ขอขอบคุณ

 

กรุงเทพมหานคร

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

สำนักงานเขตบางซื่อ

 

สำนักงานตำรวจนครบาลเตาปูน

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

 

สภาวัฒนธรรมเขตบางซื่อ

 

คุณชัชวาลย์  คงอุดม  สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร

 

คุณสมศักดิ์ จันทวัฒนา      ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ ปี2540และผู้ริเริ่มผู้ร่วมก่อตั้งประชาคมประชานฤมิตรและรองผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการและสังคม

 

อาจารย์สุดสาคร ชายเสม   ผู้ออกแบบซุ้มประตูประชาคมประชานฤมิตรทั้งสองด้านและออกแบบลายไทยในการแข่งขันการแกะสลักไม้

 

คุณวิวัฒน์ชัย บุญภักดี  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

คุณสมมาศ ศิริวงศ์  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

คุณทูล ภุมรินทร์วรากูล  เอื้อเฟื้อที่จอดรถตลาดเตาปูน

 

คณะกรรมการประชาคมประชานฤมิตรทุกท่าน

 

ผู้ประกอบการในซอยประชานฤมิตรทุกร้าน

 

 

———————

 

 

ประธานประชาคมประชานฤมิตร

 

 

ปี 2542-2543   ประธานประชาคมประชานฤมิตร   

       คุณวสันต์ ศรีรัชตระกูล

 

ปี 2544-2545   ประธานประชาคมประชานฤมิตร   

คุณยงค์ พุฒดี

 

ปี 2546-2547   ประธานประชาคมประชานฤมิตร 

คุณส่วน ดวงจันทร์

 

ปี 2548-2549   ประธานประชาคมประชานฤมิตร 

คุณประสิทธิ์ สืบจากลา

 

ปี 2550-2551   ประธานประชาคมประชานฤมิตร 

คุณประสิทธิ์  สืบจากลา

 

 

 

 

 

จากหนังสือ  ประชานฤมิตร ถนนเครื่องเรือน ถนนเฟอร์นิเจอร์

จากหนังสือ  ประชานฤมิตร 6 ปี ถนนสายไม้